วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

งานเขียนประเภทร้อยกรอง ประพันธ์โดย อนุวัฒน์ มากชูชิต

กลอน ๘ เรื่อง ภาษาวิบัติ เพราะคนวิบัติ

ที่มาของภาพ : http://www.dek-d.com/board/view/1635115/
                              อันชาติล่มลงฤาคือ"วิบัติ"               เฉกเช่นสัตว์ใฝ่ต่ำเดรัจฉาน
                       ทำชาติล่มไม่คิดพวกจิตมาร                  ถ่ายทอดผ่านจากปากล้วนหยาบคาย
                       เขียนผิดรูปผิดเสียงว่าน่ารัก                  ไม่ตระหนักรู้ไหมไทยทั้งหลาย
                       บรรพบุรุษมอบให้จากใจกาย                หลงงมงายชาติอื่นชื่นมื่นกัน
                       ภาษาไทยไทยไม่รักใครจะรัก              ไม่ตระหนักไม่ใช้อย่างสร้างสรรค์
                       ทั้งเขียนพูดออกเสียงแต่ละวัน             ควรใช้กันให้ถูกตามแบบไท
                       จะเรียนเถิดภาษาชนต่างชาติ                เปิดโอกาสอนาคตที่สดใส
                       แต่ไม่ลืมว่าเรามีภาษาไทย                   สำนึกไว้อย่าถมทับคิดทำลาย
                       รู้หรือไม่วิบัติคืออะไร                          ขอบอกให้แปลว่า"ความฉิบหาย"
                       คนที่ใช้ก็ไม่ต่างกันมากมาย                 คำเรียงรายสับสนทนเห็นใจ
                       "อารายชิมิลั๊คนะข๊ะ"                            คำขยะมันยังคิดพูดไปได้
                       ฟากสมองสำนึกมันดับไป                    เหลือหยากไย่รุงรังเต็มกะลา
                       วันข้างหน้านั้นจะเป็นเช่นไร                ถ้าคนไทยคิดจะฆ่าภาษา
                       กลียุคต้องเกิดนองน้ำตา                       พร่ำเวทนาสงสารเด็กตาดำ

กลอน ๘ เรื่อง วิทยาลัยการฝึกหัดครู มรภ.พระนคร

ที่มาของภาพ : http://www.panoramio.com/photo/91786924

                          จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง      ถิ่นลือเลื่องด้านพุทธศาสนา
                  อีกคือที่บ่มเพาะศาสตร์วิชา                         ก้าวเข้ามาถึงร้อยยี่สิบกว่าปี
                 มหาวิทยาลัยราชภัฏ                                     ชื่อเด่นชัด"พระนคร"สง่าศรี
                 อยู่ใต้เบื้องพระปกเกล้าฯบารมี                     คงความดีความเด่นคือเป็นไท
                 จารจารึก พึงประจักษ์ ให้รับรู้                      ถิ่นสร้างครู แต่ก่อนเก่า คือแห่งไหน
                เป็นโรงเรียน สถาบัน ของชาติไทย                เป็นวิทยาลัย ก้าวไกล นานมา
                ณ ถิ่นนี้ คือที่ หลอมรวมจิต                           แนบสนิท ประสิทธิ์ทั่ว การศึกษา
                สองมหาราช ทรงพระ กรุณาฯ                      เหล่าประชา ชื่นเกษม เปรมปรีดี
                ราชภัฏ สร้างปราชญ์ เพื่อชาติไทย                ดำรงไว้ ด้วยเกียรติ และศักดิ์ศรี
                อันความรู้ เชิดชู คู่ความดี                             สมกับที่ เป็นคน ของพระราชา
                ปัญญาเป็นแก้วของนรชน                             ฝึกฝนตน เห็นผล ภายภาคหน้า
                ดุจกับแก้ว เจิดจรัส มิไคลคลา                      เพาะปัญญา เป็นเกราะ คุ้มกายา
                ร้อยยี่สิบปี แห่งการ ฝึกหัดครู                       ก้าวเข้าสู่ บนถนน การศึกษา
                มหาราช โปรดประทาน กำเนิดมา                เสริมปัญญา เสริมความรู้ เสริมชาติไทย
                พระนคร สร้างครู คู่แผ่นดิน                         ปักรากฐาน สู่ท้องถิ่น มั่นคงไว้
                เพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโต อยู่ในใจ                   มุ่งก้าวไป ความเป็นเลิศ นิรันดร์กาล
                แหล่งรวบรวม ความรู้ หลากสาขา              ปาเจรา บูชาครู ผู้สืบสาน
                ศาสตร์และศิลป์ สั่งสม อุดมการณ์               ถ่ายทอดผ่านกระดานปลายปากกา
                ฝึกหัดครูฝึกหัดคนให้กล้าแกร่ง                   ให้เป็นแหล่งเชี่ยวชาญทุกสาขา
                เสริมความรู้เสริมสร้างภูมิปัญญา                  เพาะวิชาเพาะครูอยู่ในใจ
                หลายหลากเอกเฉกเช่นแสงดวงแก้ว             สว่างแล้วงามเลิศส่องไสว
                ทำประโยชน์ตามหลักของครูไทย                 จารึกในแผ่นถิ่นพระนคร

กาพย์ฉบัง ๑๖ เรื่อง ชมธรรมชาติ

ที่มาของภาพ : http://my.dek-d.com/maleendavil/funnyquiz/view.php?id=41493
                                เที่ยวชมเพลินเดินกลางดง                    น้ำค้างพร่างลง
                ทั่วพื้นพงพนาดร
                               ชื่นชื่นเห็นฑิฆัมพร                               ล่องลอยคล้ายเรียงกร
                อมรใสครามขาวมี
                               ผกาพรรณงามรูจี                                 ดุจเปร่งรัศมี
                ให้ภมรเจ้าเชยชม
                              แอ๊ดแอ๊ดไผ่เสียดลม                              ก้านโอบเกลียวกลม

                ดั่งพี่แนบเนื้อนงคราญ       

                                                                                                       

        กลอน ๘ เรื่อง ครูกลอนสุนทรภู่

ที่มาของภาพ : http://scoop.mthai.com/specialdays/2452.html
                           ใครหนอเขียนกลอนชั่งไพเราะ              สุดเสนาะโสตประสาทล้วนทั้งห้า

                  เมื่อฤกษ์ถึงยี่สิบหกมิถุนา                               ให้รู้ว่าควรรำลึกอยู่อาจินต์
                  จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง                  ถึงกวีลือเลื่องด้านงานศิลป์
                  ท่านยิ่งใหญ่กว่าใครในแผ่นดิน                       ชื่อได้ยินว่า"ภู่"ครูชาญกลอน
                 อันนิราศเรียงร้อยถ้อยโวหาร                            ทั้งกาพย์กานท์มีข้อคิดไว้สั่งสอน
                 อีกนิทานพระอภัยสุดสุนทร                             ล้วนทุกตอนเปี่ยมคุณค่าภาษาไทย
                 สุภาษิตสอนหญิงหญิงควรรู้                            เพื่อเชิดชูความดีมั่นคงไว้
                 อีกเพลงยาวถวายโอวาทไป                             ล้วนตรึกในคนไทยทั้งแผ่นดิน


งานเขียนบทความเชิงวิจารณ์ โดย อนุวัฒน์ มากชูชิต

ล้วงลับ “โรงข้าวโพดคั่ว” 

         ทนไม่ไหวแล้วโว้ย!  หลายคนคงพูดอุทานออกมาด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกัน เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในโรงข้าวโพดคั่ว หรือโรงหนังนั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้  มีหลายสิ่งหลายอย่างรบกวนจิตใจไม่ให้มีความสุข ถึงแม้ผู้บริโภคทั้งหลายจะยอมควักเงินจากกระเป๋าเพื่อแลกกับความบันเทิงบนจอยักษ์ แต่เงินที่เสียไปก็ไม่อาจซื้อความสุขได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตรงกันข้าม กลับมีแต่ทำให้สมองเครียดหนักกว่าเดิม เมื่อต้องทนกับสภาพบีบบังคับหลากหลายรูปแบบที่บรรจุอยู่ในโรงข้าวโพดคั่ว
        
 
          เมื่อไม่นานมานี้ประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ เกือบจะสิ้นปี ได้มีโอกาสไปดูหนัง เรื่อง คุณนายโฮ ที่โรงหนังแห่งหนึ่งซึ่งไม่ขอระบุชื่อ อยากจะร้องโฮตามภาพยนตร์ เพราะได้เจอกับความมหาโหด เริ่มตั้งแต่เรื่องที่เห็นๆ กันอยู่ แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรอย่าง   นั่นก็คือเรื่อง “ราคา” ที่ยังคาตา คาหู และคาใจอยู่เมื่อดูหนังจบ
          
อ้างอิงรูปภาพ : http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=7350&page=1
            เริ่มแรก คือ “ราคาขนมขบเคี้ยว อาหารขยะ และเครื่องดื่มอัดลม”   นับได้ว่าเป็นเมืองหน้าด่านของที่นี่เลยก็ว่าได้ เพราะตรงนี้จะเป็นจุดตรวจตั๋วโดยที่ด้านหน้าจะมีบาร์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายเครื่องดื่ม  อาหารว่าง  ขนมขบเคี้ยว ส่วนใครที่ต้องการอาหารหนักๆ หน่อยก็จะมีไส้กรอก แซนด์วิช ไว้บริการ จะมีกระจายอยู่ทั่วทุกๆชั้น ซึ่งนับวันยิ่งราคาสูงขึ้นไปทุกที เครื่องดื่มพวกสีส้ม สีเขียว สีน้ำน้ำตาล ปาไปแก้วละ ๓๐ กว่าบาทแล้ว และสัญลักษณ์ที่ว่ามาแล้วไม่ซื้อไม่ได้นั่นก็คือ “ข้าวโพดคั่ว” เรียกอย่างหรูๆ ว่า “ป๊อปคอร์น” เมื่อมาอยู่ในโรงหนัง กลับถือโอกาสขึ้นตามสถานที่ตั้งไปด้วย มีทั้งรสหวาน  รสชีส  และรสเค็ม ขนาดเล็ก ๕๕ บาท ขนาดใหญ่ ๖๐ บาท หรือถ้าคิดว่าไม่อิ่มกระเพาะ ก็มีป็อปคอร์นขนาดบิ๊กเบิ้ม ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ ๑๑๙  บาท นับว่าเผาผลาญเงินไปจริงๆ สู้ไปกินตามหนังกลางแปลงแค่ถุงละ ๑๐ บาท ๒๐ บาทจะดีกว่า
            
อ้างอิงรูปภาพ : http://movie.mthai.com/movie-news/52910.html
             ต่อมา ราคาตั๋ว ก็เป็นเรื่องที่น่าปวดใจไม่แพ้กัน จากเดิมแค่ไม่ถึงร้อยก็ต้องทำงานหาเงิน หรือขอเงินผู้ปกครองที่ทำงานแทบกระอักเลือด ราคาที่นั่งธรรมดาปาเข้าไปร้อยกว่า หนักหน่อยก็ ๑๘๐-๒๐๐ เลยก็มี ถ้าจะอ้างว่าเป็นราคาความหรูของโรงหนังที่บวกเพิ่มเข้าไป เพราะว่าดูได้ในระบบ ๓D หรือ ๓ มิติ ก็ยังอาจพอเข้าใจได้ แต่จากที่เจอมากับตัวและได้ฟังคำคนบ่นกันมากมายบนโลกออนไลน์แล้วสรุปได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรม
         
 จากการไปค้นข้อมูลในเรื่องนี้ผู้ประกอบการบางรายบอกว่า เป็นการถือโอกาสเพิ่มค่าตั๋วหนัง ถ้าหนังเรื่องไหนฟอร์มยักษ์หน่อยหรือคนดูเยอะ กระแสตอบรับดี ราคาจะเขยิบเพิ่มขึ้นอีก ๒๐-๔๐ บาทต่อที่นั่ง ทั้งๆ ที่ฉายโรงเดียวกับที่หนังเรื่องอื่นๆ เคยฉาย ซึ่งองค์ประกอบเรื่องภาพ เสียง การบริการ หรือแม้แต่เก้าอี้นั่งกลับไม่ได้แตกต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียว ถามว่าลูกค้าต้องเสียเงินเพิ่มเพื่ออะไร ในเมื่อไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเบาะที่นั่งหรือพรมในโรงภาพยนตร์ราคาแพงนั้น เคยได้รับการทำความสะอาดให้คุ้มค่าแก่เงินที่เสียไปบ้างหรือเปล่า
         ถึงแม้จะมี “โปรโมชันแบ่งปันน้ำใจ”  ทุกเรื่อง ทุกรอบ คิดเพียง ๖๐ หรือ  ๘๐ บาทเท่านั้นถ้ามีบัตรสมาชิก และอีกอย่างคือทุกๆพุธ  จะลดราคา  แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะรู้ว่าทั้งหมดเป็นแค่ “โปรโมชันที่จอมปลอม เพราะไม่ได้น่าตื่นเต้นดีใจอย่างที่พยายามล่อหลอกเอาไว้ พออยากดูหนังใหม่ๆ สักเรื่อง กลับถูกพนักงานขายตั๋วทำลายความฝันด้วยข้ออ้างที่ว่าหนังเรื่องนี้ไม่รวมอยู่ในโปรโมชันค่ะ ราคาดังกล่าวจึงเป็นจริงได้เพียงหนังประเภทเก่าค้างโรง แค่ ๘๐ บาท ดูได้ทั้งวันตามโรงหนังแถบชานเมืองและต่างจังหวัดเท่านั้น สุดท้ายประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อจึงจำต้องเดินคอตกไปซื้อตั๋วราคาแพงเหมือนเดิม
        ยังไม่รวมพฤติกรรมการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคด้วยกฎเกณฑ์ที่ว่า ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มจากภายนอกเข้ามารับประทานภายในโรงภาพยนตร์ ทำให้ไม่มีทางเลือกสำหรับคนที่ท้องว่าง เมื่อหิวไม่รู้ทำทำไรได้ก็ต้องพึ่ง พึ่งข้าวโพดคั่วและน้ำอัดลม เหมือนเป็นการติด “บ่วง” ที่ไม่อาจจะแก้ได้ บางรายก็ต้องอาศัยวิธีซุกซ่อนอาหารที่อยากกินเข้าไปแทน โดยยัดเข้าไปตามซอกที่คิดว่าลึกลับที่สุด ถ้าพนักงานตรวจค้นไม่เจอก็ถือว่าโชคดีไป
        
ถึงจะแก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ก็ต้องแก้ด้วยวิธีเดียวเท่านั้นคือ วิธี ทำใจ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทำเป็นไม่สนใจ ราคาตั๋วราคาแพงๆ หรือแม้กระทั่งข้าวโพดคั่วที่ไม่เคยนึกอยากกินตั้งแต่แรก แต่ก็ใช่ว่าความรู้สึกแย่ๆ จะหมดสิ้นลง เพราะยังมีโอกาสได้เจอเรื่องกวนใจในโรงภาพยนตร์ได้อีกหลากหลายประการอย่างที่หลายๆคนเคยเจอมาแล้ว
       สุดท้ายประชาชนก็ต้องพึ่งแผ่นผีที่วางขายเกลื่อนตลาดในราคาแสนถูกต่อไป คุณตำรวจคงทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีกเป็นแน่...


งานเขียนสารคดีท่องเที่ยว โดย อนุวัฒน์ มากชูชิต

เที่ยวเชิงอนุรักษ์บนคาบสมุทรสทิงพระ...วิถีประสา ชาวโหนด นา เล


       จังหวัดสงขลา นอกจากจะมีอำเภอหาดใหญ่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง และแหล่งบันเทิงขึ้นชื่อแล้ว ในสงขลายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ เกาะยอ ทะเลสาบสงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา น้ำตกโตนงาช้าง ฯลฯ
           นอกจากนี้สงขลายังถือเป็นหนึ่งในจังหวัด ที่มีการดำรงวิถีพื้นบ้านที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะวิถีชีวิตชุมชน คาบสมุทรสทิงพระ ที่เป็นผืนแผ่นดินอันน่ามหัศจรรย์ เพราะแต่เดิมเป็นเกาะ ๒ เกาะ แต่ด้วยเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่เกาะทั้ง ๒ เคลื่อนเข้ามาติดกันกลายเป็นคาบสมุทร ซึ่งประกอบด้วย ๔ อำเภอ คือ อำเภอสทิงพระ  สิงหนคร ระโนด และกระแสสินธุ์ ตั้งอยู่ระหว่างทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา
          สำหรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในคาบสมุทรสทิงพระของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรมอันดีงามเกี่ยวข้องกับตาลโตนด การทำนา และการทำประมงหรือหาเล โดยเฉพาะตาลโตนดที่นี่ นับเป็นแหล่งที่มีต้นตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย นำมาซึ่งอาชีพที่หลากหลาย
        

 แผนที่คาบสมุทรสทิงพระ
         
            ในขณะที่การหาเล(หาปลา)ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่ชาวสทิงพระดำรงวิถีมาช้านาน เนื่องจากทะเลสาบสงขลาอุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลมากมาย ทั้งกุ้ง หอย ปู และปลาที่อุดมสมบูรณ์มาก อีกทั้งทะเลสาบสงขลามีความสวยงาม จนได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งดินแดนด้ามขวา ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดทำกิจกรรมท่องเที่ยววิถีโหนด นา เล ขึ้น ในพื้นที่ ๓ ตำบลของอำเภอสทิงพระ ประกอบด้วย ตำบลท่าหิน ตำบลคูขุด และตำบลคลองรี
            

                  ตำบลท่าหิน มีกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่รวมตัวกันแล้ว สานต่อในกิจกรรมมีคนมาชมวิถีตาลโตนดอยู่บ่อยครั้ง มีกลุ่มกิจกรรมนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว คือ กลุ่มดอกไม้จันทน์ กลุ่มแปรรูปน้ำตาลแว่น น้ำตาลผง กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มน้ำยาล้างจาน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มน้ำตาลสด จาวตาลเชื่อม ร้านค้าชุมชน แปรรูปไม้ตาล
       
                  ตำบลคูขุด มีกลุ่มพัฒนาอาชีพตาลโตนด กลุ่มผ้าบาติก กลุ่มกุ้งหวาน กลุ่มข้าวซ้อมมือ ชมรมประมงพื้นบ้าน กลุ่มไข่เค็ม กลุ่มหัตกรรมไม้ตาลมีศูนย์เรียนรู้ มีการเพาะต้นตาลโตนด มีการสำรวจข้อมูลตาลโตนด การทำน้ำหมักชีวภาพจากลูกตาลสุก การแปรรูปไม้ตาล



                ตำบลคลองรี มีกลุ่มน้ำตาลสด จาวตาลเชื่อม ตัดเย็บเสื้อผ้า เพาะเห็ด ประมงอาสา การทำไร่นาสวนผสมแบบชีวภาพ มีเกาะกำเหียง มีวัดเจ้าแม่อยู่หัว การทำขนมจากจาวตาล
     
  


                 ย้อนหลังนับไปนานนับพันปีที่วิถีของผู้คนบนแผ่นดินบก หรือคาบสมุทรสทิงพระปัจจุบันที่ผูกพันกับ ๓ วิถีอาชีพ คือ วิถีอาชีพ "โหนด-นา-เล" มาจวบจนถึงปัจจุบันชาวบ้านจึงให้คำนิยามใน ๓ วิถีอาชีพนี้ว่า สามเกลอหัวแข็ง
 

                 วิถีโหนด เป็นวิถีชีวิตเกี่ยวกับตาลโหนด ประกอบด้วยการขึ้นตาลโตนด เฉาะลูกตาล ลูกตาลเชื่อม การทำน้ำผึ้งแว่น น้ำผึ้งเหลว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด และการเพาะลูกโหนด ปัจจุบันวิถีโหนด ได้รับความสนใจ และมีการให้ความสำคัญจากหลายภาคส่วน เห็นได้จากผู้คนทั้งในถิ่น และนอกถิ่น พูดถึง วลีที่ว่า โหนด-นา-เลกันมากขึ้น มีการพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับโหนดมากขึ้น มีกลุ่มอาชีพที่แปรูปผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ และสร้างรายได้มากขึ้น และยิ่งราคาน้ำผึ้งราคาถีบตัวสูงขึ้นจากปี๊บละ๔๐๐-๕๐๐บาท เป็นปี๊บละ ๑,๐๐๐ กว่าบาท ทำให้คลายความเป็นห่วงเรื่อง โหนดสูญพันธุ์ ลงได้มากและนับวันเป็นวิถีอาชีพที่มีอนาคตดี ทำรายได้ให้ผู้คนสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนปีละหลายร้อยล้านบาท                                                                       

                                                                                                                                                                    
             วิถีนา  วิถีชีวิตการทำนา อาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน บนคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งการทำนาจะสลับกับอาชีพตาลโตนด บางบ้านเมื่อหมดหน้าตาลโตนด ก็จะมาประกอบอาชีพทำนามีสภาพที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการทำนาแต่ละปีต้องอาศัยน้ำฝนเสียส่วนใหญ่ ปีไหนฝนตกดี ทำนาได้ ปีไหนแล้งฝนไม่พอ นาม้าน ไม่ได้ผลผลิต ปีไหนฝนตกมาน้ำท่วมขังนานข้าวเน่าเปื่อย นาล่ม เป็นอย่างนี้มาช้านาน และวิถีการทำนาปีของชาวนาบนคาบสมุทรสทิงพระ คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าในรอบทุก ๔ ปี จะทำนาได้ดี ๓ ปี อีก ๑ ปี หากไม่นาล่ม ก็จะเป็นนาม้าน วิถีอาชีพการทำนาของที่จึงทำแต่เพียงพอกิน และเหลือเก็บมากกว่าทำนาเพื่อขายข้าว ปัจจุบันการนายิ่งลำบาก ยุ่งยากและขาดทุนมากขึ้น เนื่องจากฤดูกาลฝนฟ้าอากาศแปรปรวน และชาวนาหลงใช้ปุ๋ยเคมีกันมาช้านานจนเสพติดทางความรู้สึก ทำให้หน้าดินเสีย และผลผลิตก็ตกต่ำ รวมทั้งต้นทุนก็สูงขึ้นตามราคาปุ๋ยเคมี ปัจจุบันบางพื้นที่ทำนาเพื่อขายข้าว ปีละ ๒ ครั้ง คือทำนาปี และนาปรัง อย่างเช่น ตำบลตะเครียะ ตำบลบ้านขาว และตำบลแดนสงวน ของอำเภอระโนด จะมีการทำนากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีเครื่องมือทุ่นแรงพร้อม และยังพบว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีสูงในการทำนาของชาวนาหลายราย จนมีสภาพวิถีการทำนาที่ว่า ทำนาปี มีแต่หนี้กับซัง พอทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้
           
              วิถีเล  ยังมีสภาพที่ดีกว่าวิถีนา คือยังพอออกเลหาปลาเป็นรายได้พอเพียงยังชีพหากเทียบกับในอดีตเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านที่ประชากรในรอบลุ่มเลสาบสงขลายังมีจำนวนน้อย ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมยังมั่งคั่งสมบูรณ์ดี เนื่องไม่มีการทำเกษตรเคมี ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ไม่มีวิถีบริโภคนิยม มีวิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เช่น การทำไซ-สุ่ม การทำกุ้งส้ม ปลาแห้ง ปลาต้มน้ำผึ้ง เป็นต้น

             โดยรูปแบบของการท่องเที่ยวจะเป็นการเปิด ให้สัมผัสประสบการณ์ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา นับเนื่องแต่บรรพบุรุษ และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อาทิ การเรียนรู้การขึ้นต้นตาล การเคี่ยวน้ำตาล การร่วมหว่าน ไถ ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว และออกเรือหาปลาสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการ
              และนอกจากการสัมผัสการเรียนรู้ วิถีโหนด นา เล แล้ว ในละแวกนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ เส้นทางตามรอยหลวงพ่อทวด ประกอบด้วย สำนักสงฆ์วัดต้นเลียบ สถานที่ฝังรกของหลวงพ่อทวด, วัดดีหลวง สถานที่บรรพชาของหลวงพ่อทวด, วัดสีหยัง สถานที่ศึกษาพระธรรมวินัย, วัดพะโคะ สถานที่จำพรรษาของสมเด็จเจ้าพะโคะ เป็นต้น

                การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนคาบสมุทรสทิงพระ เริ่มต้นที่อำเภอสทิงพระนี้เอง ดังที่กล่าวในตอนที่แล้วว่า อำเภอสทิงพระมีทุนจากธรรมชาติในพื้นที่นาและทะเลอันสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่จึงพึ่งพาทุนจากธรรมชาติในท้องถิ่น และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ในการประกอบอาชีพ เลี้ยงสัตว์ ทำนา หาปลา และแปรรูปผลผลิตจากตาลโตนด
                 จุดแรกเริ่มต้นเดินทางจากศูนย์เรียนรู้บ้านท่าหินไร่นาสวนผสมบ้านดอนคัน นมัสการแม่เจ้าอยู่หัววัดท่าคุระ แวะชมการทำน้ำตาลสดผ่านสเตอรีไรซ์ ของตำบลคลองรี เยี่ยมชมวัดพะโค๊ะ เดินทางเข้าเกาะใหญ่ ชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดแหลมบ่อท่อ และชมโบราณสถานวัดสูงเกาะใหญ่ พัก ๑ คืน ณ วัดทุ่งบัว รุ่งขึ้นออกจากวัดทุ่งบัว กระแสสินธ์ เยี่ยมชมชุมชนพะโค๊ะ ถ้ำเขาคูหา ชมสาธิตการทำน้ำตาลแว่น คลองฉนวน ชมสำนักสงฆ์ต้นเลียบที่ฝังรกสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ ชมสาธิตการทำขนมพื้นบ้านกลุ่มสตรีบ้านชะแม ออกจากกลุ่มขนมพื้นบ้าน ถึงวัดจะทิ้งพระ เป็นวัดที่มีโบราณสถานควรแก่การศึกษา ค้นคว้าวิชาการและประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์(พ่อเฒ่านอน) พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งบรรจุพระบรมสาริกธาตุ เป็นที่สักการะบูชากราบไหว้ของผู้พบเห็น ออกจากวัดจะทิ้งพระ เดินทางมาถึงกลุ่มแม่บ้านจะทิ้งพระ ของป้าถนอม ศิริรักษ์ เรียนรู้ถึงการทำน้ำปลา น้ำบูดู และคุณเสริญศิริ หนูเพชร เรียนรู้เรื่องเส้นใยตาลโตนด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกจากหาดมหาราช เดินทางไปยังกลุ่มหัตถกรรมปั้นหม้อ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จากฐานกิจกรรมที่มีตาลโตนดสัมพันธ์อยู่ทุกพื้นที่ 
                 เมื่อมาถึงปัจจุบัน บ้านเมืองเจริญมากขึ้น ประชากรมากขึ้น สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ผลทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติในร่อยหรอลดลง การออกทะเลหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านในรอบลุ่มทะเลสาบ ทั้ง ๓ จังหวัด (นครศรีฯ พัทลุง และสงขลา) รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านในทะเลอ่าวไทยของคนบนคาบสมุทรสทิงพระ ต้องออกทะเลไปหาปลาไกลขึ้น ใช้เวลา เชื้อเพลิงมากขึ้น ใช้เครื่องมือมากขึ้น แต่กลับหาปลาได้น้อยลงแทบไม่พอกินในบางฤดูกาล จึงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพรับจ้างเป็นช่างก่อสร้างบ้างเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว
                 ชุมชนจึงอยากให้มีการเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยววิถีตาลโตนดให้เกิดขึ้นใน คาบสมุทรสทิงพระให้จงได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชมวิถีชีวิตอาชีพตาลโตนดเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และควรเพื่อให้เยาวชนในและนอกโรงเรียนให้มีความรู้ในการทำอาชีพตาลโตนดเพื่อ มิให้วิถีตาลโตนด ท้องนา และ ท้องเลสูญหายไป
         “ตาลเอ๋ยตาลโตนด                  มากประโยชน์สุดอธิบายมีหลายสิ่ง
คนทิ้งพระลึกซึ้งได้พึ่งพิง                 เป็นความจริงพิสูจน์ได้หลายประเด็น
                                         ตอนนี้โหนดยังอยู่อย่างไร้ค่า             หลายคนพามองข้ามไม่แลเห็น
                                         ช่วยกันคิดเพิ่มค่าไม่ยากเย็น                 สร้างโหนดเด่นอีกคราน่าภูมิใจ” 
                                                                                                                                                           (ครูไพฑูรย์)
                หากเอ่ยถึง"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา"น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก แต่จะมีสักกี่รายจะมีโอกาสสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ดินแดน"ทะลสามน้ำ"อย่างลึกซึ้ง ที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางกายภาพ รวมถึงสีสันแห่งชีวิตที่ไม่เคยจืดจางนับแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบัน ความโดดเด่น และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้ถูกผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และกำลังกวักมือเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่สนใจในวิถีชีวิตให้เร่งก้าวเท้าเข้ามายลและสัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิตเชิงเกษตร ที่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่าวอายุคนชนิดที่ไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆที่ ไหนอย่างแน่นอน

อ้างอิง(ข้อมูลและรูปภาพเพิ่มเติม) :  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=285142