วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

งานเขียนสารคดีท่องเที่ยว โดย อนุวัฒน์ มากชูชิต

เที่ยวเชิงอนุรักษ์บนคาบสมุทรสทิงพระ...วิถีประสา ชาวโหนด นา เล


       จังหวัดสงขลา นอกจากจะมีอำเภอหาดใหญ่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง และแหล่งบันเทิงขึ้นชื่อแล้ว ในสงขลายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ เกาะยอ ทะเลสาบสงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา น้ำตกโตนงาช้าง ฯลฯ
           นอกจากนี้สงขลายังถือเป็นหนึ่งในจังหวัด ที่มีการดำรงวิถีพื้นบ้านที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะวิถีชีวิตชุมชน คาบสมุทรสทิงพระ ที่เป็นผืนแผ่นดินอันน่ามหัศจรรย์ เพราะแต่เดิมเป็นเกาะ ๒ เกาะ แต่ด้วยเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่เกาะทั้ง ๒ เคลื่อนเข้ามาติดกันกลายเป็นคาบสมุทร ซึ่งประกอบด้วย ๔ อำเภอ คือ อำเภอสทิงพระ  สิงหนคร ระโนด และกระแสสินธุ์ ตั้งอยู่ระหว่างทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา
          สำหรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในคาบสมุทรสทิงพระของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรมอันดีงามเกี่ยวข้องกับตาลโตนด การทำนา และการทำประมงหรือหาเล โดยเฉพาะตาลโตนดที่นี่ นับเป็นแหล่งที่มีต้นตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย นำมาซึ่งอาชีพที่หลากหลาย
        

 แผนที่คาบสมุทรสทิงพระ
         
            ในขณะที่การหาเล(หาปลา)ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่ชาวสทิงพระดำรงวิถีมาช้านาน เนื่องจากทะเลสาบสงขลาอุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลมากมาย ทั้งกุ้ง หอย ปู และปลาที่อุดมสมบูรณ์มาก อีกทั้งทะเลสาบสงขลามีความสวยงาม จนได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งดินแดนด้ามขวา ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดทำกิจกรรมท่องเที่ยววิถีโหนด นา เล ขึ้น ในพื้นที่ ๓ ตำบลของอำเภอสทิงพระ ประกอบด้วย ตำบลท่าหิน ตำบลคูขุด และตำบลคลองรี
            

                  ตำบลท่าหิน มีกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่รวมตัวกันแล้ว สานต่อในกิจกรรมมีคนมาชมวิถีตาลโตนดอยู่บ่อยครั้ง มีกลุ่มกิจกรรมนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว คือ กลุ่มดอกไม้จันทน์ กลุ่มแปรรูปน้ำตาลแว่น น้ำตาลผง กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มน้ำยาล้างจาน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มน้ำตาลสด จาวตาลเชื่อม ร้านค้าชุมชน แปรรูปไม้ตาล
       
                  ตำบลคูขุด มีกลุ่มพัฒนาอาชีพตาลโตนด กลุ่มผ้าบาติก กลุ่มกุ้งหวาน กลุ่มข้าวซ้อมมือ ชมรมประมงพื้นบ้าน กลุ่มไข่เค็ม กลุ่มหัตกรรมไม้ตาลมีศูนย์เรียนรู้ มีการเพาะต้นตาลโตนด มีการสำรวจข้อมูลตาลโตนด การทำน้ำหมักชีวภาพจากลูกตาลสุก การแปรรูปไม้ตาล



                ตำบลคลองรี มีกลุ่มน้ำตาลสด จาวตาลเชื่อม ตัดเย็บเสื้อผ้า เพาะเห็ด ประมงอาสา การทำไร่นาสวนผสมแบบชีวภาพ มีเกาะกำเหียง มีวัดเจ้าแม่อยู่หัว การทำขนมจากจาวตาล
     
  


                 ย้อนหลังนับไปนานนับพันปีที่วิถีของผู้คนบนแผ่นดินบก หรือคาบสมุทรสทิงพระปัจจุบันที่ผูกพันกับ ๓ วิถีอาชีพ คือ วิถีอาชีพ "โหนด-นา-เล" มาจวบจนถึงปัจจุบันชาวบ้านจึงให้คำนิยามใน ๓ วิถีอาชีพนี้ว่า สามเกลอหัวแข็ง
 

                 วิถีโหนด เป็นวิถีชีวิตเกี่ยวกับตาลโหนด ประกอบด้วยการขึ้นตาลโตนด เฉาะลูกตาล ลูกตาลเชื่อม การทำน้ำผึ้งแว่น น้ำผึ้งเหลว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด และการเพาะลูกโหนด ปัจจุบันวิถีโหนด ได้รับความสนใจ และมีการให้ความสำคัญจากหลายภาคส่วน เห็นได้จากผู้คนทั้งในถิ่น และนอกถิ่น พูดถึง วลีที่ว่า โหนด-นา-เลกันมากขึ้น มีการพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับโหนดมากขึ้น มีกลุ่มอาชีพที่แปรูปผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ และสร้างรายได้มากขึ้น และยิ่งราคาน้ำผึ้งราคาถีบตัวสูงขึ้นจากปี๊บละ๔๐๐-๕๐๐บาท เป็นปี๊บละ ๑,๐๐๐ กว่าบาท ทำให้คลายความเป็นห่วงเรื่อง โหนดสูญพันธุ์ ลงได้มากและนับวันเป็นวิถีอาชีพที่มีอนาคตดี ทำรายได้ให้ผู้คนสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนปีละหลายร้อยล้านบาท                                                                       

                                                                                                                                                                    
             วิถีนา  วิถีชีวิตการทำนา อาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน บนคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งการทำนาจะสลับกับอาชีพตาลโตนด บางบ้านเมื่อหมดหน้าตาลโตนด ก็จะมาประกอบอาชีพทำนามีสภาพที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการทำนาแต่ละปีต้องอาศัยน้ำฝนเสียส่วนใหญ่ ปีไหนฝนตกดี ทำนาได้ ปีไหนแล้งฝนไม่พอ นาม้าน ไม่ได้ผลผลิต ปีไหนฝนตกมาน้ำท่วมขังนานข้าวเน่าเปื่อย นาล่ม เป็นอย่างนี้มาช้านาน และวิถีการทำนาปีของชาวนาบนคาบสมุทรสทิงพระ คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าในรอบทุก ๔ ปี จะทำนาได้ดี ๓ ปี อีก ๑ ปี หากไม่นาล่ม ก็จะเป็นนาม้าน วิถีอาชีพการทำนาของที่จึงทำแต่เพียงพอกิน และเหลือเก็บมากกว่าทำนาเพื่อขายข้าว ปัจจุบันการนายิ่งลำบาก ยุ่งยากและขาดทุนมากขึ้น เนื่องจากฤดูกาลฝนฟ้าอากาศแปรปรวน และชาวนาหลงใช้ปุ๋ยเคมีกันมาช้านานจนเสพติดทางความรู้สึก ทำให้หน้าดินเสีย และผลผลิตก็ตกต่ำ รวมทั้งต้นทุนก็สูงขึ้นตามราคาปุ๋ยเคมี ปัจจุบันบางพื้นที่ทำนาเพื่อขายข้าว ปีละ ๒ ครั้ง คือทำนาปี และนาปรัง อย่างเช่น ตำบลตะเครียะ ตำบลบ้านขาว และตำบลแดนสงวน ของอำเภอระโนด จะมีการทำนากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีเครื่องมือทุ่นแรงพร้อม และยังพบว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีสูงในการทำนาของชาวนาหลายราย จนมีสภาพวิถีการทำนาที่ว่า ทำนาปี มีแต่หนี้กับซัง พอทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้
           
              วิถีเล  ยังมีสภาพที่ดีกว่าวิถีนา คือยังพอออกเลหาปลาเป็นรายได้พอเพียงยังชีพหากเทียบกับในอดีตเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านที่ประชากรในรอบลุ่มเลสาบสงขลายังมีจำนวนน้อย ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมยังมั่งคั่งสมบูรณ์ดี เนื่องไม่มีการทำเกษตรเคมี ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ไม่มีวิถีบริโภคนิยม มีวิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เช่น การทำไซ-สุ่ม การทำกุ้งส้ม ปลาแห้ง ปลาต้มน้ำผึ้ง เป็นต้น

             โดยรูปแบบของการท่องเที่ยวจะเป็นการเปิด ให้สัมผัสประสบการณ์ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา นับเนื่องแต่บรรพบุรุษ และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อาทิ การเรียนรู้การขึ้นต้นตาล การเคี่ยวน้ำตาล การร่วมหว่าน ไถ ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว และออกเรือหาปลาสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการ
              และนอกจากการสัมผัสการเรียนรู้ วิถีโหนด นา เล แล้ว ในละแวกนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ เส้นทางตามรอยหลวงพ่อทวด ประกอบด้วย สำนักสงฆ์วัดต้นเลียบ สถานที่ฝังรกของหลวงพ่อทวด, วัดดีหลวง สถานที่บรรพชาของหลวงพ่อทวด, วัดสีหยัง สถานที่ศึกษาพระธรรมวินัย, วัดพะโคะ สถานที่จำพรรษาของสมเด็จเจ้าพะโคะ เป็นต้น

                การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนคาบสมุทรสทิงพระ เริ่มต้นที่อำเภอสทิงพระนี้เอง ดังที่กล่าวในตอนที่แล้วว่า อำเภอสทิงพระมีทุนจากธรรมชาติในพื้นที่นาและทะเลอันสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่จึงพึ่งพาทุนจากธรรมชาติในท้องถิ่น และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ในการประกอบอาชีพ เลี้ยงสัตว์ ทำนา หาปลา และแปรรูปผลผลิตจากตาลโตนด
                 จุดแรกเริ่มต้นเดินทางจากศูนย์เรียนรู้บ้านท่าหินไร่นาสวนผสมบ้านดอนคัน นมัสการแม่เจ้าอยู่หัววัดท่าคุระ แวะชมการทำน้ำตาลสดผ่านสเตอรีไรซ์ ของตำบลคลองรี เยี่ยมชมวัดพะโค๊ะ เดินทางเข้าเกาะใหญ่ ชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดแหลมบ่อท่อ และชมโบราณสถานวัดสูงเกาะใหญ่ พัก ๑ คืน ณ วัดทุ่งบัว รุ่งขึ้นออกจากวัดทุ่งบัว กระแสสินธ์ เยี่ยมชมชุมชนพะโค๊ะ ถ้ำเขาคูหา ชมสาธิตการทำน้ำตาลแว่น คลองฉนวน ชมสำนักสงฆ์ต้นเลียบที่ฝังรกสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ ชมสาธิตการทำขนมพื้นบ้านกลุ่มสตรีบ้านชะแม ออกจากกลุ่มขนมพื้นบ้าน ถึงวัดจะทิ้งพระ เป็นวัดที่มีโบราณสถานควรแก่การศึกษา ค้นคว้าวิชาการและประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์(พ่อเฒ่านอน) พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งบรรจุพระบรมสาริกธาตุ เป็นที่สักการะบูชากราบไหว้ของผู้พบเห็น ออกจากวัดจะทิ้งพระ เดินทางมาถึงกลุ่มแม่บ้านจะทิ้งพระ ของป้าถนอม ศิริรักษ์ เรียนรู้ถึงการทำน้ำปลา น้ำบูดู และคุณเสริญศิริ หนูเพชร เรียนรู้เรื่องเส้นใยตาลโตนด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกจากหาดมหาราช เดินทางไปยังกลุ่มหัตถกรรมปั้นหม้อ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จากฐานกิจกรรมที่มีตาลโตนดสัมพันธ์อยู่ทุกพื้นที่ 
                 เมื่อมาถึงปัจจุบัน บ้านเมืองเจริญมากขึ้น ประชากรมากขึ้น สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ผลทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติในร่อยหรอลดลง การออกทะเลหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านในรอบลุ่มทะเลสาบ ทั้ง ๓ จังหวัด (นครศรีฯ พัทลุง และสงขลา) รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านในทะเลอ่าวไทยของคนบนคาบสมุทรสทิงพระ ต้องออกทะเลไปหาปลาไกลขึ้น ใช้เวลา เชื้อเพลิงมากขึ้น ใช้เครื่องมือมากขึ้น แต่กลับหาปลาได้น้อยลงแทบไม่พอกินในบางฤดูกาล จึงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพรับจ้างเป็นช่างก่อสร้างบ้างเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว
                 ชุมชนจึงอยากให้มีการเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยววิถีตาลโตนดให้เกิดขึ้นใน คาบสมุทรสทิงพระให้จงได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชมวิถีชีวิตอาชีพตาลโตนดเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และควรเพื่อให้เยาวชนในและนอกโรงเรียนให้มีความรู้ในการทำอาชีพตาลโตนดเพื่อ มิให้วิถีตาลโตนด ท้องนา และ ท้องเลสูญหายไป
         “ตาลเอ๋ยตาลโตนด                  มากประโยชน์สุดอธิบายมีหลายสิ่ง
คนทิ้งพระลึกซึ้งได้พึ่งพิง                 เป็นความจริงพิสูจน์ได้หลายประเด็น
                                         ตอนนี้โหนดยังอยู่อย่างไร้ค่า             หลายคนพามองข้ามไม่แลเห็น
                                         ช่วยกันคิดเพิ่มค่าไม่ยากเย็น                 สร้างโหนดเด่นอีกคราน่าภูมิใจ” 
                                                                                                                                                           (ครูไพฑูรย์)
                หากเอ่ยถึง"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา"น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก แต่จะมีสักกี่รายจะมีโอกาสสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ดินแดน"ทะลสามน้ำ"อย่างลึกซึ้ง ที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางกายภาพ รวมถึงสีสันแห่งชีวิตที่ไม่เคยจืดจางนับแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบัน ความโดดเด่น และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้ถูกผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และกำลังกวักมือเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่สนใจในวิถีชีวิตให้เร่งก้าวเท้าเข้ามายลและสัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิตเชิงเกษตร ที่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่าวอายุคนชนิดที่ไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆที่ ไหนอย่างแน่นอน

อ้างอิง(ข้อมูลและรูปภาพเพิ่มเติม) :  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=285142

10 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณข้อมูลด้วยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ได้ความรู้เยอะมากเลยครับ

    ตอบลบ
  3. ข้อมูลของคุณมีสาระดีนะครับ...

    ตอบลบ
  4. ข้อมูลแน่นมาก ได้ความรู้เยอะเลย

    ตอบลบ
  5. เนื้อหาเยี่ยมเลยค่ะ

    ตอบลบ
  6. ข้อมูลดี อย่างนี้เราต้องไปกัน

    ตอบลบ
  7. เป็นเรื่องที่ควรอนุรักษ์ไว้มากๆเลยค่ะ

    ตอบลบ
  8. อยากไปเที่ยวบ้างจัง

    ตอบลบ
  9. หรอยๆๆ ชอบแรงครับ บ้านผมอยู เมืองวัดสน ระโนดมหานครครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อยู่ที่ไหนก็ไม่บายใจเท่าบ้านเราครับ

      ลบ